หนุ่มสาวสร้างโลก (๒) ทำงานกับคนจน สร้างการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก

Source: https://jitwiwat.blogspot.in/2014/12/blog-post_26.html
โดย ชลนภา อนุกูล

หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 ธันวาคม 2557

อาณีช ธิลเลนเคอรีย์ (Aneesh Thillenkery) ชายหนุ่มหนวดเคราครึ้มดำ ผมดำ ตาดำ แววตาจริงจังมีประกายครุ่นคิดอยู่เสมอ เป็นโฆษกของขบวนการเคลื่อนไหวเอ็กตา ปาริฉัด (Ekta Parishad) ซึ่ง – ประกอบด้วยองค์กรระดับท้องถิ่น ๑๑,๐๐๐ องค์กร มีสมาชิกหลายแสนคน กระจายตัวอยู่ใน ๑๑ รัฐของอินเดีย และมีเป้าหมายในการผลักดันประเด็นสิทธิที่ดินของคนยากไร้ในอินเดีย – เขาเป็นผู้ประสานงานระดับชาติของขบวนการฯ และเข้าร่วมในแวดวงการเจรจาว่าด้วยนโยบายการปฏิรูปที่ดินระดับชาติของอินเดีย

อาณีชมาจากรัฐเคราลา – รัฐที่ยากจนมากที่สุดแห่งหนึ่งในอินเดีย รายได้ประชากรต่อหัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอินเดีย แต่ประชากรร้อยละ ๙๐ อ่านออกเขียนได้ อายุขัยเฉลี่ยของประชากรคือ ๗๒ ปี เรียกได้ว่าเป็นรัฐยากจนแต่ประชากรมีการศึกษาและสุขภาวะอยู่ในอันดับต้น-ต้นของโลก

หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยในเคราลา ชายหนุ่มก็ออกจากบ้านมาทำงานเป็นนักกิจกรรมทางสังคมกับเอ็กตา ปาริฉัด (Ekta Parishad) จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๑๕ ปีแล้ว เขาเริ่มชีวิตทำงานผ่านขบวนการเคลื่อนไหวเยาวชน หนุนเสริมการทำงานของกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐโอริสสา ฟื้นฟูเหยื่อสึนามิในรัฐเคราลา ผลักดันสิทธิในที่ดินทำกินในรัฐมัธยประเทศและรัฐฉัตตีสครห์ ก่อนจะยกระดับขึ้นมาทำงานเป็นผู้ประสานงานระดับชาติในช่วง ๗ ปีที่ผ่านมา

อาจถือได้ว่าอาณีชเป็นผลผลิตสำคัญของการทำงานกับคนหนุ่มสาวของเอ็กตา ปาริฉัด ดังที่ราม สิงห์ ปารมา (Ram Singh Parmar) ประธานคณะทำงานของเอ็กตา ปาริฉัด เล่าให้เครือข่ายนักวิจัยผู้นำแห่งอนาคตฟังในโอกาสเดินทางไปเยือนอินเดียช่วง ๑๒ – ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ฟังว่า เสาหลักของการเปลี่ยนแปลงสังคมประกอบด้วย (หนึ่ง) สันติวิธีในฐานะวิถีชีวิต (สอง) ความรู้สึกเป็นปึกแผ่นมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (๓) ความรู้สึกร่วมกับคนยากไร้ และ (สี่) คนหนุ่มสาว

เอ็กตา ปาริฉัดประกอบด้วยคนทำงานภาคประชาสังคมราว ๖๕๐ คน โดยมีกระบวนการสร้างคนที่เริ่มจากล่างสู่บน ทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องผ่านการทำงานระดับล่างก่อนจะยกระดับขึ้นมา การพัฒนาภาวะผู้นำใช้ค่ายเยาวชน – Youth Camp – ที่ให้แต่ละชุมชน/หมู่บ้านเลือกคนอายุระหว่าง ๑๘ – ๕๐ ปี มาเรียนรู้ร่วมกัน ๑ เดือน และฝึกทำโครงงานในหมู่บ้านของตนเองอีก ๑ เดือน

หลักสูตรเน้น ๕ เรื่อง คือ (หนึ่ง) การสร้างความมั่นใจ (สอง) การใช้แรงงานฐานกาย เพื่อตระหนักถึงคุณค่าของแรงงาน (สาม) การทำความเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง ช่วยให้ผู้เรียนเชื่อมโยงปัญหาของตนเองในมุมปัจเจกภาพว่าเป็นผลหรือส่วนหนึ่งของปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้ยกระดับไปสู่ความเป็นสมุหภาพได้ (สี่) การฝึกสร้างทีมงาน เชื่อมโยงกันโดยปราศจากการแบ่งแยกทางชนชั้น วรรณะ เพศ ศาสนา ฯลฯ (ห้า) การทำงานกับหมู่บ้าน เช่น สำรวจสภาพปัญหา ฝึกการเชื่อมสัมพันธ์ สร้างความไว้วางใจ ทำงานคิดวิเคราะห์ ฯลฯ

ไม่แปลกใจที่งานสร้างคนอย่างต่อเนื่องจริงจังนี้ ทำให้สามารถจัดยาตราใหญ่ในปี ๒๐๐๕, ๒๐๐๗, ๒๐๑๒ อย่างต่อเนื่อง และครั้งสุดท้ายมีผู้เข้าร่วม ๑๐๐,๐๐๐ คน เดินเท้าจากกวาลิออร์ไปเดลี ทำให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูปที่ดินระดับชาติโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

การทำงานกับคนหนุ่มสาวดูเหมือนจะเป็นหัวใจสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวนี้ ดังที่ราช โฆปาล (Rajagopal P.V.) ผู้นำเอ็กตา ปาริฉัดเล่าไว้ในปาฐกถามหาตมะคานธีอนุสรณ์ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ ๓ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ว่า การฝึกฝนคนรุ่นใหม่ต้องเน้นไปที่การเชื่อมโยงหัวกับใจเข้าหากัน โดยเริ่มจาก (๑) สร้างความมั่นใจว่าคนคนเดียวก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ดุจเดียวกับเทียนเล่มเดียวที่สามารถขับไล่ความมืดมิด (๒) สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทแวดล้อมเชิงโครงสร้างและกฎกติกาที่เราเกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นว่ามีองค์กรใด กฎหมายฉบับใด กำลังแสดงพลังอำนาจอยู่ และก่อให้เกิดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นความรุนแรงที่แท้จริง (๓) มีความเข้าใจว่าสันติวิธีเป็นวิถีของชีวิต ไม่ใช่เพียงยุทธวิธี เป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการในการขจัดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (๔) การปรับเปลี่ยนพลังของความโกรธไปสู่ปฏิบัติการเชิงบวก – เหล่านี้ เป็นหนทางของการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป บนวิถีแห่งสันติวิธี

ใช่แล้ว – ทั้งราช โฆปาล ราม สิงห์ ปารมา และอาณีช ถือว่าเป็นพวกนิยมคานธี และสมาทานแนวทางอหิงสาสันติวิธีเข้ามาทั้งในวิถีชีวิตและการงาน ผู้คนเหล่านี้นอกจากเป็นมังสวิรัติแล้ว ยังหลีกเลี่ยงการบริโภคสินค้าที่อยู่บนพื้นฐานของการเอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนผู้ยากไร้และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ดังเช่นการไม่ดื่มน้ำอัดลม ไม่ซื้อเสื้อผ้าและสินค้าแบรนด์เนม ฯลฯ

แล้วเหตุใดบัณฑิตมีการศึกษาจึงต้องมาทำงานกับคนยากไร้? – ทั้งราช โฆปาล และราม สิงห์ ปารมา พูดตรงกันว่า พวกเขาเชื่อมั่นว่าสันติวิถีน่าจะเริ่มต้นจากชีวิตในชุมชน/หมู่บ้าน และความรุนแรงเชิงโครงสร้างเป็นศัตรูสำคัญของสังคมที่ปรารถนาสันติสุขร่วมกัน

อาณีชเป็นคนรุ่นใหม่ในเอ็กตา ปาริฉัด นอกจากมีความคล่องแคล่วในการทำงานและประสานงานแล้ว เขายังพูดจาฉาดฉานสื่อถึงความคิดที่ทรงพลังไม่แพ้ผู้นำระดับอาวุโส ดังที่เมื่อถูกถามว่า การลงไปฝังตัวทำงานระดับหมู่บ้านอยู่หลายปี แล้วชวนคนจำนวนมากออกไปเดินขบวนเพื่อกดดันรัฐบาลนั้น เมื่อรัฐบาลรับปากแต่ไม่มีปฏิบัติการที่ปรากฏผลเชิงรูปธรรมเลย จะถือว่าเป็นชัยชนะของประชาชนได้อย่างไร? – เขาตอบง่าย-ง่ายอย่างมั่นคงว่า เราต้องเข้าใจว่าสันติวิธีไม่เหมือนยาแผนปัจจุบัน ที่กินปุ๊บก็แก้อาการโรคได้ปั๊บ โรคทางสังคมหรือความรุนแรงทางโครงสร้างนั้นเป็นปัญหาขนาดใหญ่ยืดเยื้อยาวนาน การแก้ไขด้วยยาอย่างสันติวิธีต้องมองว่าเป็นการรักษาโรคแผนโบราณ ที่เน้นองค์รวม และใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนเพื่อกลับเข้าสู่สมดุล การที่ชาวบ้านหรือคนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยตนเองบนหนทางแห่งสันติวิธีนั้นถือเป็นชัยชนะแล้ว เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์จากภายใน ที่จะค่อย-ค่อยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและจิตสำนึกของผู้คนในสังคมร่วมกัน

ในฐานะของชนชั้นกลางมีการศึกษา คนอย่างอาณีชลงไปทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนยากไร้ ไม่ได้สวมบทบาทนำ หากสวมบทบาทของนักจัดตั้ง นักประสานจัดการ เพื่อร่วมเดินกับผู้คนจำนวนมากไปสู่เป้าหมายว่าด้วยสังคมเป็นธรรมร่วมกัน